หากพูดถึงเรื่องของ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต่างพยายามผลักดันกันมานานแล้ว ในเรื่องของการเรียกร้องพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับสิทธิถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่ต่างอะไรกับชายหญิงทั่วไป ในขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตกจำนวนมากให้การยอมรับมานานแล้ว
ประเทศที่มีกฎหมายรองรับให้เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ตอนนี้มีอยู่ 19 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แอฟริกาใต้, สเปน, แคนาดา, เวลส์, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ไอซ์แลนด์, เม็กซิโก, โปรตุเกส , นิวซีแลนด์, อุรุกวัย , เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, บราซิล, สวีเดน, นอร์เวย์ , เดนมาร์ก และอาเจนติน่า
ส่วนประเทศเยอรมนี มีกฎหมายให้จดทะเบียนแบบ Partnership ถึงจะไม่ใช่การสมรสตามแบบฉบับทุกประการ แต่ก็มีสิทธิเท่าเทียมกับการสมรสตามปกติ และถ้าผ่านความเห็นชอบ ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 20 ของโลก รวมทั้งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้
พ.ร.บ.คู่ชีวิตนี้ นอกจากจะให้สิทธิ์ในเรื่องของการจดทะเบียนสมรสแล้ว มันยังพ่วงกับสิทธิอื่นๆ อีกหลายประการ ด้วยกัน ได้แก่
– การทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน เช่น ไปกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อบ้าน
– สิทธิในการรับการรักษาพยาบาล กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับราชการ
– สิทธิลงชื่อยินยอมให้แพทย์รักษาพยาบาลแก่คู่ชีวิต
– สิทธิในการรับมรดกที่ร่วมสร้างกันมา หากเกิดเหตุฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตกะทันหันรวมทั้งไม่มีพินัยกรรมระบุไว้
– สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ในกรณีมีคู่สมรส
– สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้
กระแสสนับสนุนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนภาพ Profile ในสื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่อย่าง Facebook ให้เป็นภาพสีรุ้ง เพื่อเป็นการแสดงความยินดีกับคู่รักชาว Gay จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศาลยินยอมเห็นชอบให้แต่งงานกันได้
ความจริงความรักระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วดั่งที่เราเห็นได้จาก บันทึก รูปภาพ ต่างๆ ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่เหตุใดมันถึงยังเป็นเรื่องที่บุคคลอีกหลายๆ คนยังไม่สามารถยอมรับได้
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์กับการยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันจากทั้งโลก เราก็คงต้องดูกันต่อไปว่าทางฝั่งการเมือง รวมทั้งสังคมในประเทศไทยจะเปิดกว้างกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เรื่องอันน่าเศร้าที่สุดก็คือ สิทธิเสรีภาพของคนอีกหลายล้านคน อาจถูกมองข้ามไป เพียงแค่อคติเก่าๆ ซึ่งมีต่อบุคคลหลากหลายเพศ ซึ่งความอยุติธรรมนี้ล้วนแทรกตัวอยู่ในโครงสร้างวัฒนธรรมโดยครอบงำไปถึงแนวคิดของผู้ใช้อำนาจรัฐอีกด้วย